วันครูไทย วันครูโลก


วันที่ 16 มกราคม เป็น “วันครูของประเทศไทย” เรื่องนี้เราคงรู้กันอยู่แล้ว ถึงจะไม่ใช่เด็กนักเรียนหรือครู คนทั่วไปก็คงได้ข่าวการแจกรางวัลครูดีเด่นเป็นการย้ำเตือนความจำว่าประเทศนี้ยังมีวันครู ยังคงให้ความสำคัญกับอาชีพครู(อยู่บ้าง)

ผมพยายามหาว่าทำไมเราถึงจัดให้วันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู แต่ผมหายังไงก็ไม่เจอ คำตอบเท่าที่พอจะหาได้คือมันถูกเลือกของมันมาแบบนี้ ฟังแล้วดูเหมือนกำปั้นทุบดิน ไม่มีเหตุผลเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวอื่นใดในวงการการศึกษาของประเทศนี้ (หรือแม้แต่ของโลกนี้) เลยแม้แต่น้อย

ข้างล่างนี้คือที่มาของวันครูครั้งแรกของประเทศไทยจากวิกิพีเดีย

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488….

ผมลองค้นดูจากที่อื่น คำตอบก็ไม่ได้แตกต่างจากนี้ไปมากนัก สงสัยถ้าผมอยากรู้มากกว่านี้คงต้องตามไปถามคนร่างประกาศนี้ (ซึ่งก็คงเสียชีวิตกันไปหมดแล้ว)

แม้จะเป็นปกติของประเทศนี้ที่เรื่องต่างๆ เกิดขึ้นได้โดย(เสมือนว่า)ไม่มีเหตุผลใดๆ แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องนับว่าประเทศนี้ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษาแล้วกัน เกิดเป็นคนไทย ไม่ควรรู้อะไรมาก จงพอใจกับคำตอบ(ที่ไม่เหมือนคำตอบ)ซะ

คราวนี้มาดูการให้ความสำคัญของครูในระดับโลกกันบ้าง เรื่องที่คนไทยหลายคนอาจจะไม่ค่อยสนใจ (ผมเองก็เพิ่งมาสนใจเร็วๆ นี้) คือ องค์การ UNESCO ประกาศให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันครูโลก (World Teachers’ Day) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) แล้ว สาเหตุที่ UNESCO เลือกวันนี้ก็เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบการลงนามในเอกสาร UNESCO/ILO Recommendation Concerning the Status of Teachers ในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) ซึ่งเอกสารนี้ถือได้ว่าเป็นเอกสารสากลที่รับรองสิทธิและสภาพของคนที่ประกอบวิชาชีพครูทั่วโลก (หลังจากนี้ในปี ค.ศ. 1997 ยังมีการลงนามเอกสาร Recommendation concerning the Status of Higher-Education Teaching Personnel อีกชิ้นเพื่อให้ความสำคัญกับบุคลากรอุดมศึกษาด้วย) อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้จากเว็บไชต์ Education International

มีหลายประเทศเลยที่กำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมหรือวันที่ใกล้เคียงเป็นวันครูแห่งชาติ เช่น ออสเตรเลีย อัฟกานิสถาน บัลกาเรีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น บางประเทศก็เปลี่ยนจากวันครูเดิมมาเป็นวันที่ 5 ตุลาคมเพื่อให้สอดคล้องกับวันครูโลก เช่น รัสเซีย อาเซอร์ไบจัน ลิธัวเนีย เป็นต้น (ข้อมูลจาก Wikipedia)

นอกจากวันที่ 5 ตุลาคมแล้ว ส่วนใหญ่แต่ละประเทศก็จะกำหนดวันครูตามประวัติศาสตร์หรือคนสำคัญในวงการการ ศึกษาของประเทศนั้นๆ แต่ที่น่าสังเกตคือมีประเทศอาหรับหลายประเทศเลือกให้วันที่ 28 กุมภาพันธ์เป็นวันครู ส่วนวันครูในวันที่ 16 มกราคมนี่เป็นเอกลักษณ์จริงๆ มีประเทศไทยเท่านั้น

ผมค่อนข้างเสียดายเหมือนกันที่ประเทศไทยไม่มีข่าวคราวเกี่ยวกับวันครูโลกมากนัก (หรืออาจจะมีแต่ผมตกข่าว) อาจจะเป็นเพราะเราคนไทยมีนิสัยไม่ค่อยให้ความสนใจเกี่ยวกับที่มาความสำคัญของเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยอย่างที่บอกไปในย่อหน้าข้างบน ความเป็นครูที่ดีตามแบบฉบับของไทยๆ จึงได้ดูแปลกแยกเป็นเอกเทศจากกรอบของการศึกษาสากลเหลือเกิน

นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบกันให้งานวันครูของประเทศไทยรวมผสมอะไรก็ไม่รู้เข้ามาเลอะเทอะไปหมด (อย่างน้อยในความคิดผม ผมก็เห็นว่ามันเลอะเทอะ คนอื่นอาจจะมองว่ามันดีงามก็ได้) เช่น การยกให้ศาสดาของศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือกษัตริย์เป็น “บรมครู”, “สุดยอดครู”, “ครูแห่งครู” หรืออะไรต่อมิอะไรเท่าที่จะอวยกันได้

ผมคิดเองของผมเล่นๆ นะว่าวันเด็กกับวันครูของประเทศไทยสะท้อนสภาพช่องว่างระหว่างวัยในโรงเรียนได้อย่างดีเลย วันเด็กของประเทศไทยคือวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ขณะที่วันครูคือวันที่ 16 มกราคมของทุกปี นั่นหมายความว่า(วัน)ครูจะไม่มีทางไล่ทัน(วัน)เด็กได้เลย ถึงแม้ในบางปีจะเข้าใกล้กันมากเท่าไรก็ตาม (อย่างเช่นในปี พ.ศ. 2555 นี้ที่วันเด็กตรงกับวันที่ 14 ก่อนหน้าวันครูเพียงสองวัน)

โอเค ผมยอมรับว่านี่คือความคิดบ้าๆ ของผมเอง 😛 เพราะความจริงนี่คงไม่ใช่เหตุผลที่วันที่ 16 มกราคมถูกเลือกเป็นวันครูหรอก วันเด็กในประเทศไทยช่วงแรกๆ ก็จัดกันในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเพื่อให้ผู้ปกครองได้พาเด็กไปเที่ยวได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องกลัวฝนและไม่ต้องกลัวเจ้านายหักเงินเดือนข้อหาอู้งาน (อ้างอิงวิกิพีเดีย)

แต่สภาพความเป็นจริง ช่องว่างระหว่างวัยก็มีอยู่จริง ผมไม่แน่ใจว่าการลากเอาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ (และอาจจะมีสถาบันอื่นๆ ตามมาอีกในอนาคต) อย่างที่แสดงออกกันในทุกวันนี้เป็นไปเพื่อการถมช่องว่างตรงนี้หรือไม่? มันจะเป็นเพราะเด็กสมัยนี้ดื้อเกินไป เราจึงต้องควบคุมพวกเขาให้อยู่ในกรอบอันดีงามตามแบบฉบับของความเป็นไทยหรือไม่?

ไม่ว่าที่เราทำลงไปจะมาจากสาเหตุอะไร ถึงอย่างไรก็ชัดเจนว่าผลของมันไม่ได้นำไปสู่สิ่งที่การศึกษาสมัยใหม่ควรเป็น ภาพเด็กต้องถือพานดอกไม้ธูปเทียนคลานเข่าเข้าไปไหว้ครูนั้นทำให้ผมนึกถึงการศึกษาสมัยยุคศักดินาที่ศูนย์กลางในการอบรมสั่งสอนเยาวชน คือ “บ้าน-วัด-วัง”

ทำไมเราถึงจะจัดงานวันครูให้เป็น “การขอบคุณครู” เพียงอย่างเดียวไม่ได้? ผมคิดว่าการให้เกียรติที่มากที่สุดที่มนุษย์จะให้กันได้ คือ การให้เกียรติในฐานะของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่การยกครูเป็นปูชนียบุคคลอัน(ล้อมกรอบด้วยสถานะ)ศักดิ์สิทธิ์ หรือว่าเด็กไทยควรซาบซึ้งกับความรู้ที่คุณครูอุตส่าห์ประสิทธิ์ประศาสน์ให้และห้ามคิดออกนอกกรอบเกินไปกว่านั้น? หรือว่าเราควรเป็นอย่างนี้กันต่อไป? (และก็บ่นว่าการศึกษาไทยมันห่วยกันต่อไป?)

เฮ้อ วันครูทั้งที ผมก็ควรจะซาบซึ้งกับพระคุณครูสินะ ไหนทำไมกลายเป็นการบ่นเรื่องการศึกษาไปเสียได้? หากครูที่เคยสอนผมมาอ่านบทความนี้ คงอยากริบเกรดผมคืนแน่เลย 😛

4 Responses to วันครูไทย วันครูโลก

Leave a reply to iayeotgbrhxf Cancel reply