ไซยาไนด์ในเมล็ดแอปเปิ้ลฆ่าคนตายได้จริงหรือ


ช่วงนี้ข่าวพิษไซยาไนด์กำลังดัง บางคนก็กลัวเพราะได้ยินว่าเมล็ดแอปเปิ้ล อัลมอนด์ ก็มีไซยาไนด์

ความจริงไม่ต้องกังวล โอกาสที่คนปกติจะโดนพิษไซยาไนด์จากการกินผลไม้เหล่านี้มีน้อยมาก

เมล็ดแอปเปิ้ลหรือเมล็ดของผลไม้สกุล Prunus (เช่น อัลมอนด์ บ๊วย พลัม แอปปริคอต เชอรี่) ไม่ได้มี cyanide ในตัวเอง แต่มันมี amygdalin ซึ่งจะสลายตัวให้ cyanide ออกมาเมื่อเซลล์แตกและถูกเอนไซม์จากน้ำย่อยในทางเดินอาหารหรือเอนไซม์จากในเซลล์ของเมล็ดพืชเองเข้าไปย่อย

ผิวหุ้มเมล็ดของแอปเปิ้ลค่อนข้างหนาและทนน้ำย่อยได้ ดังนั้นต่อให้คุณกลืนเมล็ดแอปเปิ้ลเข้าไป ก็ไม่มีอันตรายจาก cyanide เมล็ดเหล่านั้นมันก็จะผ่านทางเดินอาหารและถูกขับถ่ายออกไปพร้อมอุจจาระ (แต่ก็ไม่แนะนำให้กลืนเมล็ดแอปเปิ้ลอยู่ดี)

หรือต่อให้เผลอเคี้ยวเมล็ดแอปเปิ้ลไปสักสองสามเมล็ด ก็ไม่เป็นไร เพราะสาร amygdalin ในเมล็ดแอปเปิ้ลมีน้อยมาก ต้องเคี้ยวกันเป็นร้อยๆ เมล็ดถึงจะตาย

ส่วนเมล็ดของสกุล Prunus แม้ว่าส่วนใหญ่จะมี amygdalin มากกว่าเมล็ดแอปเปิ้ลโดยเฉพาะแอปปริคอตกับเชอรี่ แต่เมล็ดมันทั้งโตทั้งแข็ง โอกาสที่เราจะไปเคี้ยวกินเมล็ดพวกนี้เล่น ก็จึงน้อยมาก ยกเว้นอัลมอนด์ แต่อัลมอนด์พันธุ์ที่ปลูกไว้กินเมล็ดมี amygdalin ในปริมาณที่น้อยมากๆ กินได้ไม่ต้องกังวล ต่างจากอัลมอนด์ป่าหรืออัลมอนด์ขมซึ่งอาจจะมี amygdalin สูงมากในระดับเป็นอันตราย

การสกัด amygdalin ออกจากเมล็ดผลไม้พวกนี้ต้องใช้การต้มในเอธานอลหรือเมธานอลหรือคลื่นเสียงความถี่สูงไปทำให้เซลล์แตกแล้วใช้เมธานอลสกัดละลายออกมา มันไม่ได้ปล่อย cyanide ออกมาง่ายๆ หรอก เพราะในทางวิวัฒนาการ พืชเหล่านี้ตั้งใจให้สัตว์มากินผลของมันและพาเมล็ดของมันไปแพร่กระจายอึทิ้งลงที่นั่นที่นี่อยู่แล้ว เมล็ดของมันถึงทั้งแข็งและทนทานน้ำย่อย มันแค่สร้างสารพิษไว้ในเมล็ดเพื่อดักทำโทษตัวอะไรก็ตามที่เคี้ยวหรือกัดทำลายเมล็ดมัน

Leave a comment