ไซยาไนด์ในเมล็ดแอปเปิ้ลฆ่าคนตายได้จริงหรือ

ช่วงนี้ข่าวพิษไซยาไนด์กำลังดัง บางคนก็กลัวเพราะได้ยินว่าเมล็ดแอปเปิ้ล อัลมอนด์ ก็มีไซยาไนด์

ความจริงไม่ต้องกังวล โอกาสที่คนปกติจะโดนพิษไซยาไนด์จากการกินผลไม้เหล่านี้มีน้อยมาก

เมล็ดแอปเปิ้ลหรือเมล็ดของผลไม้สกุล Prunus (เช่น อัลมอนด์ บ๊วย พลัม แอปปริคอต เชอรี่) ไม่ได้มี cyanide ในตัวเอง แต่มันมี amygdalin ซึ่งจะสลายตัวให้ cyanide ออกมาเมื่อเซลล์แตกและถูกเอนไซม์จากน้ำย่อยในทางเดินอาหารหรือเอนไซม์จากในเซลล์ของเมล็ดพืชเองเข้าไปย่อย

ผิวหุ้มเมล็ดของแอปเปิ้ลค่อนข้างหนาและทนน้ำย่อยได้ ดังนั้นต่อให้คุณกลืนเมล็ดแอปเปิ้ลเข้าไป ก็ไม่มีอันตรายจาก cyanide เมล็ดเหล่านั้นมันก็จะผ่านทางเดินอาหารและถูกขับถ่ายออกไปพร้อมอุจจาระ (แต่ก็ไม่แนะนำให้กลืนเมล็ดแอปเปิ้ลอยู่ดี)

หรือต่อให้เผลอเคี้ยวเมล็ดแอปเปิ้ลไปสักสองสามเมล็ด ก็ไม่เป็นไร เพราะสาร amygdalin ในเมล็ดแอปเปิ้ลมีน้อยมาก ต้องเคี้ยวกันเป็นร้อยๆ เมล็ดถึงจะตาย

ส่วนเมล็ดของสกุล Prunus แม้ว่าส่วนใหญ่จะมี amygdalin มากกว่าเมล็ดแอปเปิ้ลโดยเฉพาะแอปปริคอตกับเชอรี่ แต่เมล็ดมันทั้งโตทั้งแข็ง โอกาสที่เราจะไปเคี้ยวกินเมล็ดพวกนี้เล่น ก็จึงน้อยมาก ยกเว้นอัลมอนด์ แต่อัลมอนด์พันธุ์ที่ปลูกไว้กินเมล็ดมี amygdalin ในปริมาณที่น้อยมากๆ กินได้ไม่ต้องกังวล ต่างจากอัลมอนด์ป่าหรืออัลมอนด์ขมซึ่งอาจจะมี amygdalin สูงมากในระดับเป็นอันตราย

การสกัด amygdalin ออกจากเมล็ดผลไม้พวกนี้ต้องใช้การต้มในเอธานอลหรือเมธานอลหรือคลื่นเสียงความถี่สูงไปทำให้เซลล์แตกแล้วใช้เมธานอลสกัดละลายออกมา มันไม่ได้ปล่อย cyanide ออกมาง่ายๆ หรอก เพราะในทางวิวัฒนาการ พืชเหล่านี้ตั้งใจให้สัตว์มากินผลของมันและพาเมล็ดของมันไปแพร่กระจายอึทิ้งลงที่นั่นที่นี่อยู่แล้ว เมล็ดของมันถึงทั้งแข็งและทนทานน้ำย่อย มันแค่สร้างสารพิษไว้ในเมล็ดเพื่อดักทำโทษตัวอะไรก็ตามที่เคี้ยวหรือกัดทำลายเมล็ดมัน

การมีชู้ช่วยให้สร้างสามัคคีในหมู่เพื่อนบ้าน(นก)

เราเคยเชื่อกันว่าพฤติกรรมการเล่นชู้เป็นการปรับตัวของฝั่งตัวผู้ที่จะ maximize การแพร่ยีนของตัวเอง

ซึ่งปัจจุบันเราก็รู้แล้วว่าความคิดแบบนี้มันไม่ครบถ้วน เพราะถ้าหากการเล่นชู้ช่วยเพิ่ม fitness ให้นกตัวผู้ได้ “ยีน” ของพฤติกรรมเล่นชู้ก็จะถูก fixed ในประชากร ตัวผู้ทุกตัวก็เล่นชู้กันหมดและทำให้ทุกตัวทั้งถูกสวมเขาและไปสวมเขาตัวอื่นพร้อมๆกัน สุดท้ายตัวผู้แต่ละตัวก็ได้โอกาสที่จะส่งผ่านยีนตัวเองเท่าๆ เดิมหรือน้อยกว่า แต่เสียพลังงานต้นทุนเยอะขึ้นทั้งในขั้นตอนของการเดินทางไปรังอื่น การเกี้ยวพาราสีและการขึ้นอึ๊บตัวเมีย ยังมีค่าของความเสี่ยงโดนตัวผู้เจ้าบ้านจับได้ ถ้างั้นมิสู้ทุ่มทุนรักเมียตัวเดียวแล้วป้องกันรังจากไอ้ตัวผู้เจ้าชู้ตัวอื่นไม่ดีกว่าเหรอ

งานวิจัย “From self-interest to cooperation: extra-pair mating as a driver of relaxed territorial aggression in social neighbourhoods” ของ Agnieszka Rumińska et al 2023 https://link.springer.com/article/10.1007/s10682-022-10222-4 แสดงให้เห็นใหม่ว่า นก ซึ่งส่วนใหญ่จับคู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียว, อยู่เป็นกลุ่ม, และมีการปกป้องอาณาเขตพื้นที่หากิน การเล่นชู้ให้ประโยชน์ทางอ้อมกับทั้งนกตัวผู้และตัวเมีย โดยมีความเชื่อมั่นของนกตัวผู้กำกับไม่ให้อีนกตัวเมียทุกตัวร่านรับชู้ไปทั่วอีกที

เปเปอร์นี้มันวางอยู่บนฐานที่ว่า ทั้งนกตัวผู้และนกตัวเมียก็มี “ยีน” เล่นชู้

ผลโมเดลอธิบายคร่าวๆ ประมาณว่า เมื่อนกตัวผู้ไปเล่นชู้กับเมียเพื่อนบ้าน มันก็จะผ่อนปรนพฤติกรรมหวงอาณาเขตกับเพื่อนบ้าน (เพราะยีนของมันส่วนหนึ่งมีโอกาสถูกส่งต่ออยู่ในรังของเพื่อนบ้านแล้ว) มันเลยมีพลังงานเหลือไปทุ่มให้กับการหาอาหารมาเลี้ยงลูกมากขึ้น แน่นอนว่าเพื่อนบ้านของมัน (แม้ว่าจะไม่ได้แอบไปเล่นชู้) ก็จะได้รับประโยชน์ไปพร้อมกันด้วยเหตุผลเดียวกัน แถมยังลดความเสี่ยงที่ตัวผู้สองตัวจะสู้กันจนอ่อนแอหรือตายด้วย

ในขณะเดียวกัน ตัวเมียก็ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย เพราะการที่ตัวผู้หาอาหารได้มากขึ้นและมีโอกาสเสียชีวิตจากการปกป้องอาณาเขตน้อยลง ลูกนกของมันในรัง (ซึ่ง 100% เป็นลูกของมันและมียีนของมัน) ก็มีโอกาสรอดมากขึ้น

จะเห็นว่าหากไม่มีการควบคุม ตัวเมียแทบจะได้รับประโยชน์เต็มๆ ส่วนตัวผู้มีโอกาสขาดทุนเพราะพลังงานที่มันทุ่มลงไปอาจจะถูกแบ่งส่วนหนึ่งไปเลี้ยงลูกของตัวผู้ตัวอื่นที่ไม่มียีนของมัน ดังนั้นตัวผู้จึงต้องคอยรักษาสมดุลระหว่างการเลี้ยงเมียเลี้ยงลูกของมัน การปกป้องอาณาเขต และต้องคอยเช็คว่าเมียมันแอบสวมเขาหรือเปล่า (“ยีนหึงหวง”) ตัวผู้จะต้องปรับตัวว่าเมื่อรับรู้ได้ว่าเมียแอบมีชู้ มันจะต้องรีบถอนการลงทุนหนีไปหาเมียใหม่ ไม่ให้ขาดทุนหนักและเป็นการลงโทษเมียเก่าไปในตัว (ตัวเมียก็จะขาดทุนไปด้วย เพราะลูกนกเสี่ยงอดตาย เสียค่าพลังงานในการสร้างไข่ ค่าเสียโอกาสในการใช้เวลากกไข่และเลี้ยงลูก)

สุดท้ายมันก็จะเข้าสู่สมดุลได้ ประชากรนกมีทั้งพวกเล่นชู้และรักเดียวใจเดียว

ผลของโมเดลเจอว่าสัดส่วนของพฤติกรรมเล่นชู้จะวิ่งเข้าสู่จุดสมดุลที่ประมาณ 0.4-0.6 แทบทุกครั้ง แม้ว่าจะเริ่มจากกรณีที่ยีนเล่นชู้ในตัวเมียหรือในตัวผู้เป็นศูนย์ก็ตามที

Paradox of the plankton สมดุลในโลกที่ไม่สมดุล

ตอนเรียน Ecology ป.ตรี เราก็เรียน Competitive exclusion principle ว่า สิ่งมีชีวิตสองชนิดที่ต้องการทรัพยากรอย่างเดียวกัน ใช้ชีวิตแบบเดียวกัน (ภาษานิเวศวิทยา คือ “ครอบครอง niche เดียวกัน”) ในชุมชนหนึ่งๆ จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ มันจะต้องแข่งขันกันจนในที่สุดเหลือแค่ชนิดเดียว

แต่ไม่มีใครเคยสอนเลยว่า Competitive exclusion แทบไม่เกิดขึ้นเลยในโลกความจริง เคสที่ยกมาให้เรียนก็เป็นเคสเฉพาะหรือการทดลองในห้องปฏิบัติการ

ตัวอย่างที่คัดค้าน Competitive exclusion อย่างชัดเจน คือ Paradox of the plankton ที่ว่า ในมหาสมุทรมีทรัพยากรอาหารและแสงอย่างจำกัด แต่ทำไมแพลงก์ตอนที่ครอบครอง niche เดียวกันหลากหลายชนิดถึงอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเก็บน้ำทะเลมาจากจุดไหนๆ มันก็ไม่เจอเลยที่เจอแค่แพลงก์ตอน 1 ชนิด (อาจยกเว้นกรณี eutrophication ซึ่งนั่นก็เกิดเป็นครั้งคราว)

คนที่อธิบายเรื่องนี้ก็มีหลายเลยแหละ แต่ผมประทับใจเปเปอร์อันนี้ “Why plankton communities have no equilibrium: solutions to the paradox” ของ Scheffer et al https://library.wur.nl/WebQuery/wurpubs/321100

เขาบอกว่า ก็ชุมชนแพลงก์ตอนในทะเลมันไม่เคยเข้าถึงจุดสมดุลไงหละ มันถึงไม่เกิด Exclusion มันก็อยู่กันในโลกที่สับสนอลหม่าน (Chaos) ตัวนั้นตัวโน้นโผล่มา-หายไป สลับกันไปเรื่อย

เออ มันก็น่าจะจริงของเขามั้ง และเท่าที่หาดูแบบเร็วๆ มีคนลองใช้ Chaos theory พยายามอธิบายการเปลี่ยนแปลงของชุมชนแพลงก์ตอนด้วย เช่น Chaos theory discloses triggers and drivers of plankton dynamics in stable environment https://www.nature.com/articles/s41598-019-56851-8

หรือว่าความจริงระบบนิเวศบนโลกของเราอาจจะไม่เคยมีที่ไหนถึงจุด equilibrium เลยสักที่ มันมีตัวแปรเยอะจนเป็น Chaos ทั้งหมดเลย? แล้วสิ่งมีชีวิตก็กระจายตัวไปทั่วแบบสุ่ม จับที่ทางหา niche อยู่กันไปตามโชคชะตาแบบที่ Unified neutral theory of biodiversity ว่าไว้

stroad (street + road) ลูกผสมอัปลักษณ์ของเมืองที่รถยนต์เป็นศูนย์กลาง

ตอนเด็กๆ ในวิชาภาษาอังกฤษ มีคำสองคำที่ผมสับสนมาก และเชื่อว่าเด็กไทยโดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในเมืองหลายคนก็เป็นเช่นเดียวกัน

คือคำว่า “street” กับ “road” ที่คนไทยแปลว่า “ถนน” เหมือนกัน

ครูอาจารย์ก็จะพยายามอธิบายว่ามันแตกต่างกันอย่างไร เช่น street เป็นถนนเล็กๆ เข้าซอยนะจ๊ะ road เป็นถนนใหญ่ๆ นะ

แต่ผมก็ไม่เข้าใจอยู่ดี บางคนอาจจะสงสัยว่า “ไม่รู้ได้ไงวะ ทั้งที่บ้านมึงอยู่ติดถนนเลยนะ” แต่นั่นแหละ มันเป็น “เพราะบ้านผมอยู่ติดถนน” นั่นคือสาเหตุที่ผมไม่เข้าใจ บ้านผมอยู่ตรงสี่แยกที่ตัดกันของถนน 2 สายพอดี ถนนสายหนึ่งคือถนนของ “ซอย” อีกสายคือถนนใหญ่ที่เชื่อมกรุงเทพภาคตะวันออกกับปริมณฑล

ปัญหาคือ ถนนซอยที่ควรจะเรียกว่า street แม่งขยายจนมี 6 เลน ปูคอนกรีตราดยางเรียบร้อย (แต่ก็มีหลุมบ่อและฝาท่อไว้ขวางทางไอ้พวกขี่จักรยานอย่างงดงามตามประเพณีไทยๆ) ต่อมาก็มีสะพานตัดตรงข้ามแยกอีก ไหนบอกทีสิว่าถนนหน้าตาแบบนี้มันเหมือนภาพ street ในหนังสือตรงไหน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ตาสว่างและรู้ว่าถนนแทบทั้งหมดในกรุงเทพและเมืองใหญ่ๆ ของไทย มันไม่ใช่ทั้ง street และ road แต่มันคือลูกผสมอัปลักษณ์ของทั้งสองอย่างที่ศัพท์ฝรั่งรุ่นใหม่เรียกว่า “stroad”

stroad ออกแบบมาด้วยความตั้งใจเพื่อให้รถยนต์วิ่งได้สบายที่สุด สะดวกที่สุด โดยไม่ต้องสนใจความปลอดภัยหรือคุณภาพชีวิตของคนหรือตัวอะไรก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในรถยนต์ซึ่งเป็นลักษณะที่มันพยายามทำหน้าที่ของ road แต่ด้วยสภาพที่มันจะแทรกไปเข้าสถานที่ที่คนไปทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ห้างร้าน บ้านเรือน สำนักงาน ฯลฯ ตามลักษณะที่มันจะต้องทำหน้าที่ของการเป็น street มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเต็มไปด้วยจุดติดขัดของรถยนต์ที่ต้องคอยให้ทางกันเข้าออกตรงนั้นตรงนี้ แถมสมนาคุณต่อที่สองก็คือการเอารถยนต์มาพ่นควันและสร้างความหวาดเสียวแก่คนทั่วไปที่สัญจรบนทางเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น stroad จึงไม่ได้ให้ความปลอดภัยหรือความสะดวกกับใครเลย แม้แต่กับคนขับรถที่คนออกแบบตั้งใจสร้างมันมาเพื่อเอาใจก็ตาม

และทางแก้ที่จะทำให้ stroad กลับมามีประสิทธิภาพในการ “ระบายการจราจร” ของรถยนต์ ก็คือ เพิ่มพื้นที่ถนนนั่นเอง อ่ะ เพิ่มแ_่งเข้าไป

อ๊ะ คนไม่มีที่เดินเหรอ เอาทางเท้าไปสิแต่ แคบหน่อยนะ เดินเบียดๆ กับหมาข้างถนนเอาหน่อย ไม่เป็นไรหรอก

อ๊ะ คนไม่มีที่ข้ามถนนเหรอ เอาสะพานลอยไป ขึ้นไปข้ามซะ อย่ามากวนใจรถยนต์ อย่ามาเดินเซ่อซ่า’ผิดกฏจราจร’ให้รถชน

วิธีแบบนี้คือการเอาเงินไปถมลงกับการสร้างและการคิดหาทางให้รถยนต์ทำความเร็วได้มากที่สุด พอเลือกคิดทำกันไปแบบนี้ ถึงที่สุดมันก็ต้องตัดกินพื้นที่ทางเท้าไปเรื่อยๆ ทางเท้าหมดก็เวนคืนที่ดิน – ใช่ พื้นที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่อาศัยและพื้นที่ธุรกิจที่เป็นตัวสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริงๆ นั่นแหละ ถูกยึดเอาไปทำถนนที่โดยตัวมันเองไม่ได้ทำเงินอะไร แต่ทุกคนคิดว่า โอ้ว ถนนกว้างๆ รถเยอะๆ คือสัญลักษณ์ของเมืองที่เจริญ เมืองที่เศรษฐกิจดี

จุดเริ่มต้นของภาพลวงตานี้ก็คือ American dream ในยุค 1960s-1970s เวลาที่คนไทยบ่นเรื่องรถติด เรื่องผังเมือง กทม. มันแย่ๆ ส่วนใหญ่ก็คือบ่นไปงั้นแหละ ดูฉลาดดี บางส่วนก็พยายามช่วยคิด แต่ทางที่คิดได้ก็ไม่พ้นจากหล่มกับดักนี้หรอก อาจจะมีคนเก่งๆ ที่คิดอย่างสร้างสรรค์กว่าคนอื่นอยู่บ้าง มีการหาโมเดลการตัดถนนแบบใหม่ๆ ที่ใช้พื้นที่น้อยลงแต่ระบายสภาพจราจรได้ดีขึ้น (ก็คงดีจริงในช่วงแรกในบางจุดแค่นั้นแหละ มันก็ไปติดคอขวดอีกที่อยู่ดี แล้วก็ตามแก้กันไปจนวนกลับมารถติดจุดเดิม บ้านผมอยู่ติดถนนรู้ดีว่าความจริงเป็นเช่นไร) เราไม่ได้คิดว่าวิธีคิดแบบนี้มันคือมายาคติที่ผิดจากสภาพความจริงของการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ต้น

ทางแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่การเพิ่มพื้นที่ถนน นึกดูว่าบ้านเรามีของรกเต็มบ้าน หยิบหาอะไรไม่สะดวก เราก็เลยหาทางแก้ด้วยการขยายบ้านหรือซื้อกล่องมาเก็บของเพิ่ม มัน make sense มั้ย สุดท้ายเราก็จะเอาของใหม่ๆ มาสุมเพิ่มเต็มกล่องเต็มพื้นที่อยู่ดี “อ้าว ก็มันมีที่ว่างใหม่หนิ มันต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ไงหล่ะ อะไรแค่นี้คิดไม่ได้เหรอ? ป ร ะ สิ ท ธิ ภ า พ รู้จักมั้ย?” — จริงหรือ

ถ้าทางแก้ของปัญหาของรกบ้านคือการเอาของที่ไม่จำเป็นทิ้ง ฉะนั้นทางแก้ของปัญหาจราจรก็คือการ “เอารถยนต์ส่วนตัวออกไปจากเมือง” — ใช่ ให้ในเมืองมีรถยนต์ส่วนตัวน้อยที่สุด มีเท่าที่จำเป็น และไม่ใช่การตั้งภาษีรถนำเข้าให้อภิสิทธิ์ชนเพียงหยิบมือได้สิทธิ์ครอบครองรถยนต์ แต่คือการสร้างเมืองที่ “เลือกคน ไม่ใช่เลือกรถ”

สิ่งที่ทำให้ผมตาสว่างคือ Strong town movement ที่มีคนทำเป็น playlist ไว้ในนี้ https://www.youtube.com/playlist?list=PLJp5q-R0lZ0_FCUbeVWK6OGLN69ehUTVa

มันคือ การวางแผนปรับปรุงหรือสร้างเมืองที่เป็น urban planning ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของแนวคิดตั้งต้นเพื่อให้ชีวิตของทุกคนปลอดภัยและมีความสุขได้ในเมือง — ทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่อยู่หลังพวงมาลัยรถ — พูดง่ายๆ แทบจะเป็นขั้วตรงข้ามของการสร้างเมืองที่เลือกรถมาก่อนแบบ American dream เลย

ตัวเลข % ของ “มนุษย์มี DNA เหมือนกับชิมแปนซี 9x.xx%” มาจากไหน?

“มนุษย์มี DNA เหมือนกับชิมแปนซี 96.49% !

เดี๋ยวนะ อีกอันบอก 97.89% หนิ

เฮ้ย แต่อีกที่บอก 98.52% นะโว้ย”

สรุป DNA มนุษย์กับชิมแปนซีเหมือนกันกี่ % กันแน่?

ผมเห็นหลายที่แล้วชอบยกตัวเลข 9x.xx% นี้กันเหลือเกิน โดยที่ไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของมัน

ผมตอบให้เลยว่า ตัวเลขพวกนี้ไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อยกขึ้นมาโดดๆ แบบนี้

ความหมายที่แท้จริงของตัวเลข 9x.xx% เหล่านี้ ไม่ใช่หมายความว่าเอารหัสเบส DNA ของคนกับของลิงมาเรียงแล้วนับดูว่าเหมือนกันเท่าไร แต่มันคือ “ค่าเฉลี่ยความคล้ายคลึง (average similarity) ของชุด orthologous gene set ของทั้งสองจีโนมที่เอามาเปรียบเทียบกัน”

เราไม่สามารถเอารหัสเบส DNA ของจีโนมมาวางเทียบกันตรงๆ ได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าตรงไหนมันเทียบกันได้

ให้ลองจินตนาการเปรียบเทียบเป็นหนังสือสองเล่มที่มีคนคัดลอกมาจากต้นฉบับเดียวกัน ดังนั้นเนื้อหาข้างในนี่ต้องเขียนคล้ายๆ กัน แต่มันส่งมาเป็นแฟ้มหนีบ ข้างในเป็นแผ่นๆ ไม่มีเลขหน้า ลำดับการเรียงหน้าของสองแฟ้มนี้อาจจะไม่เหมือนกันนะและบางหน้าก็อาจจะมีในเล่มหนึ่งแต่ไม่มีในอีกเล่ม คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรจะนับแผ่นไหนเป็นหน้าแรก ในสถานการณ์เช่นนี้คุณจะเอาแผ่นที่ 20 ของสองเล่มมาเทียบกันได้มั้ย คำตอบคือไม่ได้ นี่แหละคือสถานการณ์ของการเปรียบเทียบจีโนม

ดังนั้นในการเปรียบเทียบจีโนม เราจึงต้องหาสิ่งที่เรียกว่า orthologous gene หรือ ortholog ซึ่งก็คือยีนที่มีจุดกำเนิดทางวิวัฒนาการร่วมกัน เช่น ยีนสร้าง ATPase ที่คนก็มี ลิงก็มี และมันมีต้นกำเนิดมาจากยีนบรรพบุรุษเดียวกัน เป็นต้น

เปรียบเทียบต่อจากหนังสือสองเล่มนั้น มันก็คือการหาย่อหน้าหรือประโยคที่พูดถึงเรื่องเดียวกัน ทำให้อนุมานได้ว่าย่อหน้านี้มันต้องถูกคัดลอกมาจากย่อหน้าดั้งเดิมอันเดียวกัน เราก็พอเทียบกันได้ว่าย่อหน้าทั้งสองนี้มีความคล้ายคลึงกันเท่าไร

ก็ทำแบบนี้แหละวนไปจนครบทั่วทั้งจีโนม คัดกรองยีนที่อาจจะเป็น homolog ออก (หมายถึงยีนที่ทำหน้าที่คล้ายกันอยู่ในจีโนมเดียวกัน) เพราะมันอาจจะทำให้เกิด noise ในการเปรียบเทียบ เอาให้เหลือแต่ orthologs ที่แต่ละจีโนมมีแค่อันเดียว (single-copy orthologs) แล้วก็เอา ortholog แต่ละคู่มาคำนวณเปรียบเทียบความคล้ายคลึง (หลักการจะเหมือนกับการเปรียบเทียบข้อความ มีการให้คะแนนว่าจุดเหมือนกันได้กี่แต้ม จุดต่างกันหักกี่แต้ม จุดที่เป็น gap หักกี่แต้ม ก็ว่ากันไป) เสร็จแล้วก็หาค่าเฉลี่ย

แน่นอนว่าไอ้ที่กล่าวมา ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำ คนทำไม่ไหว

ดังนั้นตัวเลขจึงแล้วแต่เลยว่ามันใช้กี่ยีน/มียีนอะไรบ้างมาเปรียบเทียบ, ทำ genome annotation ระบุตำแหน่งยีนอย่างไร, ใช้อัลกอริธึมอะไรในการจัด ortholog cluster, ใช้โปรแกรมอะไรคำนวณคะแนนความคล้ายคลึง ตั้งค่าอย่างไร, ใช้จีโนมของอะไร/ชุดไหนมาเปรียบเทียบ

และต่อให้มีคำอธิบายบริบทข้างต้นครบถ้วน ตัวเลขที่ออกมาเป็นคู่ๆ ว่าคนเหมือนชิมแปนซีเท่าไร คนเหมือนอุรังอุตังเท่าไร ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร บอกอะไรไม่ได้ในทางวิวัฒนาการ

เพราะในตอนที่ทำวิจัยจริงๆ เราไม่ได้เปรียบเทียบกันแค่สิ่งมีชีวิตสองชนิด เราจะทำพร้อมกันหลายชนิดที่อยู่ในกิ่งวิวัฒนาการเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างออกมาเป็นแผนภูมิต้นไม้ phylogenetic tree ซึ่งบอกได้ว่าสิ่งมีชีวิตตัวไหนมีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับตัวไหน แตกสายวิวัฒนาการอย่างไร

สรุป จุดประสงค์หลักๆ ของตัวเลข 9x.xx% มีแค่ไว้ให้คนทั่วไปพอนึกภาพออกมาในเชิงปริมาณได้ว่ามนุษย์กับชิมแปนซีคล้ายกันมาก กับ อีกอย่างคือไว้ลงข่าววิทยาศาสตร์ popular science ให้คนทั่วไปอ่านแล้วตื่นเต้น

คุณใช้ยีนที่ conserved มากๆ (หมายถึงยีนที่รหัสพันธุกรรมคงที่ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงตามวิวัฒนาการ ส่วนใหญ่เป็นยีนที่ทำหน้าที่พื้นฐานสำคัญมากๆ) มาเปรียบเทียบ แล้วบอกว่าคนเหมือนกับข้าวโพด 80% ก็ได้นะ ถ้าอยากทำ

เอาจริงๆ ผมคิดว่าแม้แต่คนเรียนจบสายวิทยาศาสตร์มาโดยตรงส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เรื่องนี้นะ ก็อ้างกันไปตามนั้นแหละ ผมเองก็เพิ่งมาเข้าใจจริงๆ ตอนที่ได้ทำงาน bioinformatics คำนวณทำ phylogenetic tree ด้วยตัวเองนี่แหละ