ปิด tty ที่ไม่ใช้ใน Ubuntu Karmic

ผมเคยเขียนทิปเรื่องการปิด tty ที่ไม่ใช้ใน Ubuntu ไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นทิปที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ Ubuntu ได้พอสมควร เมื่อวานผมลองทำตามทิปที่เขียนไว้อีกครั้งใน Ubuntu 9.10 Karmic Koala ปรากฏว่าไดเร็กทอรี /etc/event.d/ มันหายไปแล้วใน Karmic

แล้วจะทำยังไงดีละ?

ดังนั้นผมก็เลยต้องค้นคว้าหาวิธีใหม่อีกครั้ง และได้พบกับคำตอบจาก Ubuntuforums

วิธีแบบใหม่ก็คือ

1. เรียก Terminal เพื่อนตายขึ้นมาแล้วพิมพ์คำสั่ง

sudo gedit /etc/default/console-setup

2. หาบรรทัดที่เป็นคำว่า ACTIVE_CONSOLES=”/dev/tty[1-6] แล้วแก้เป็น ACTIVE_CONSOLES=”/dev/tty[1-2]

3. ปิด gedit แล้ว save

4. ต่อไปรันคำสั่ง

sudo gedit /etc/init/tty3.conf

5. แล้วมองหาบรรทัดที่ขึ้นต้นด้วย start on runlevel … ใส่คอมเม้นท์ เครื่องหมาย # หน้าบรรทัดนั้นซะ

6. ปิด gedit แล้ว save

7. ทำซ้ำข้อ 3-6 ใหม่ แต่เปลี่ยนจาก tty3.conf เป็น tty4.conf, tty5.conf, และ tty6.conf

เสร็จแล้วก็รีสตาร์ต ดูความเปลี่ยนแปลง

เท่าที่ผมลองทำดู ผลที่ได้คือความเร็วตอนบูตที่เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ไม่น่าจะถึงหนึ่งวินาที และระบบที่บูตขึ้นมาตอนแรกกินแรมน้อยกว่าเดิมประมาณ 1 MB ได้ ดังนั้นถ้าหากเครื่องใครแรงอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจเสียเวลาสำหรับทิปนี้ก็ได้

GNOME Seahorse Keyring โชว์ password โดยไม่เรียกใส่รหัส… เอาอีกแล้วมั้ยละ

Seahorse เป็น defautl application ที่ใช้เก็บ Password หรือ Keyring ใน GNOME (Applications > Accessories > Password and Encryption Keys) หน้าที่ของมันคือจัดเก็บ passwords ของเราไว้เป็นแหล่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นรหัส WEP/WPA, MSN ของ Empathy เป็นต้น เราจะได้ไม่ต้องคอยจำให้วุ่นวาย แค่ตั้ง Seahorse password อันเดียวเท่านั้น

ปัญหามันอยู่ที่ทุกคนที่นั่งอยู่หน้าเครื่องของคุณสามารถจะเรียกดู Password ที่เก็บอยู่ใน keyring นี้ได้โดยไม่ต้องใส่ password อะไรเลย! เพียงแค่เปิด Seahorse ขึ้นมา แล้วคลิกรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ ข้างหน้า default keyring (ตามภาพ ผมตั้ง default keyring ชื่อว่า “general” แต่ถ้าเป็นของปกติจะอยู่ใน keyring “login)

หลังจากนั้น ก็จะเห็นรายชื่อ password ทั้งหมดที่เก็บไว้ ลองดับเบิ้ลคลิกเลือกอันที่เก็บรหัส WEP/WPA หรือ MSN ดู จะมีหน้าต่างใหม่เด้งขึ้นมา ในหน้าต่างนี้ให้คลิกตรงคำว่า “Password” แล้วติ๊กเลือกตรงช่อง “Show password” (ถ้ามีหน้าต่างถามว่าจะ Deny หรือ Allow ก็คลิก Allow) เพียงเท่านี้ รหัสนั้นก็จะแสดงหราอยู่ในรูปของ Palin text แล้ว ใครอยากได้รหัสของคุณไปใช้ ก็ทำได้เลย สะดวกดีจริงๆ

ผมคิด และภาวนา ว่าเรื่องนี้คงเป็น bug ที่น่าจะได้รับการแก้ไขในที่สุด สำหรับตอนนี้ก็ “ตัวใครตัวมัน” ระวังตัวกันเองแล้วกัน

ที่มา http://www.omgubuntu.co.uk/2009/10/security-issue-in-gnome-lets-anyone-see.html

รู้สึกมั้ยว่าเรื่องแบบนี้มันคุ้นๆ คนที่อ่านบล็อกนี้มาไม่ต่ำกว่า 1 เดือนคงจะได้อ่านเรื่องการเก็บพาสเวิร์ดของ Pidgin แล้ว เจอเรื่องแบบนี้อีกครั้ง ผมชักจะคล้อยตามกับแนวทางการเก็บ password เป็น plain text ของ Pidgin ซะแล้ว อย่างน้อยผู้ใช้ก็จะได้รู้และระมัดระวังตัวเอาไว้ ดีกว่า “หลอก” ผู้ใช้ให้เกิดความเชื่อแบบผิดๆ

เฮ้อ! ขอจบแบบเซ็งๆ

ยืนยันด้วยภาพ: ทดสอบความเร็วในการบูต Ubuntu vs Windows

Windows 7 ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ก็คุยโม้เรื่องความเร็วที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ Vista  (ความเห็นผม ถ้าช้ากว่า Vista ก็ขายไม่ออกแน่ๆ)  Ubuntu ที่เพิ่งออก 9.10 Karmic Koala ตัวเต็มไปเมื่อวาน (29 ตุลาคม 2009)  ก็ชูโรงเรื่องความเร็วมาเป็นจุดขาย เรื่องความเร็วในการใช้งานนี่คงเทียบกันยาก เพราะ applications และ benchmark softwares ก็ต่างกัน คงจะต้องอิงจากความรู้สึกของผู้ใช้ล้วนๆ

อย่าพลาด อ่านรีวิว Ubuntu 9.10 Karmic Koala จากผมทั้ง 2 ตอนได้ที่นี่ ตอนที่ 1, ตอนที่ 2 (มีแอบโฆษณาเล็กน้อย หุหุ)

แต่ความเร็วอย่างหนึ่งที่เอามาเปรียบเทียบกันเป็นตัวเลขได้แน่นอนคือ ความเร็วในการบูต ซึ่งเว็บไซต์ลินุกซ์ยอดนิยมอย่าง Tuxradar ก็ไม่รอช้าจับเอาระบบปฏิบัติการทั้งสี่ นั่นคือ Windows Vista 64-bit, WIndows 7 64-bit, Ubuntu 9.04 64-bit, และ Ubuntu 9.10 64-bit มาบูตเครื่องพร้อมกันแล้วจับเวลาถ่ายวิดีโอเอาไว้ ผลเป็นอย่างไรดูได้จากคลิปข้างล่าง

จากคลิปข้างบน แชมป์ตกเป็นของ Ubuntu 9.10 รองแชมป์ก็เสร็จ Ubuntu 9.04  ผลทดสอบนี้คงจะทำให้ Mark Shuttleworth กับทีมงานที่ Canonical ยิ้มออกกันหน่อยแล้วแหละ

ส่วนที่น่าประหลาดใจ(ปนผิดหวัง) คือ Windows 7 ช้ากว่า Vista เสียอีก ผลออกมาอย่างนี้พลิกความคาดหมายของหลายคนทีเดียว

Microsoft จ๋า! ออก Windows 7 SP1 เร็วๆ หน่อยนะ

อีก 6 ปีเจอกัน CPU 11 nm จาก Intel

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ ภายในปี 2015 ซึ่ง Fudzilla บอกว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี  Intel ยักษ์ใหญ่แห่งวงการชิปเซ็ตจะออก CPU 11 nm มาให้ชาวโลกได้จับจองเป็นเจ้าของ (คนที่เงินมากหน่อย ก็คงได้เป็นเจ้าของเร็วกว่าคนจนๆ ตามกลไกตลาดฮาร์ดแวร์) แถมแหล่งข่าวจาก Fudzilla มีคาดต่อไปอีกว่าหลังจาก CPU 11 nm แล้ว Intel ก็ยังจะมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้เล็กลงไปอีก ซึ่งอาจจะเป็น 7 nm เลยทีเดียว!

CPU 11 nm นี่มันจะมีอะไรวิเศษขนาดไหน ผมนึกไม่ออกจริงๆ แต่เอาเป็นว่าในอนาคตอันใกล้ (ไม่น่าเกินปลายปีนี้) เราก็จะเห็น CPU 32 nm “Westmere” จาก Intel กันแล้ว จนๆ อย่างเราก็คงได้แต่คอยอ่านรีวิว และตื่นเต้นไปตามเรื่อง

ที่มา http://www.fudzilla.com/content/view/16171/35/

พูดถึง Westmere ที่จะมาในปลายปีนี้ ถือว่าเป็นช่วง Tick ในแผน Tick-Tock Model ของ Intel นะครับ ลองอ่านคำอธิบายเกี่ยวกับ Tick-Tock Model ของ Intel ได้ที่เว็บ Intel โดยตรง หรือจะอ่านจาก Wikipedia ก็ได้ สรุปง่ายๆ คือ ช่วง Tick จะเป็นการลดขนาดของเทคโนโลยีการผลิต ส่วนช่วง Tock จะเป็นการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่ ดังนั้น Westmere ก็คือ สถาปัตยกรรม Nehalem Core i7 ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 32 nm นั่นเอง

ป.ล. ถ้าอ่านคำอธิบายเรื่อง Tick-Tock Model จากลิงค์ทั้งสองที่ จะงงว่าทำไมแผน roadmap ของ Intel ใน Wikipedia มันถึงได้ไกลกว่าที่มีอยู่บนหน้าเว็บของ Intel ?! หรือว่าคนเขียนบทความนี้บน Wikipedia จะเป็นแหล่งข่าวภายในจาก Intel ซะเอง

SIPA ดังใหญ่แล้วนะ

นานทีจะเห็นคนพูดถึงข่าวดีๆ ของ Free/Open Source Software ในประเทศไทย วันนี้ผมเห็นในบล็อกของคุณ Michael Tiemann ที่เว็บไซต์ Open Source Initiative เขียนชมถึงความก้าวหน้าของ Open Source ในบ้านเราด้วย หัวข้อโพสต์ตามข้างล่างนี้เลยครับ

Exciting Open Source developments in Thailand

เนื้อหาข่าวมีการพูดชมถึงความสามารถของ SIPA (ในบทความเขาเหมารวมว่าเป็น Thai Government นะครับ แต่ตัวผมเองไม่แน่ใจว่า SIPA จัดเป็นองก์กรของรัฐบาลโดยตรงหรือเปล่า) ในความพยายามผลักดันและเผยแพร่จัดพิมพ์หนังสือการใช้งานโปรแกรมโอเพนซอร์ส ที่ยกมาเป็นตัวอย่างคือ หนังสือ GIMP และ Blender (ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.thaiopensource.org/node/1431)

ขอปรบมือให้กับ SIPA และทีมงานคนทำดังๆ เลยครับ

ป.ล. ผมงงจริงๆ ว่าทำไมข่าวกระแสหลักในบ้านเราถึงไม่ตีข่าวดีงามแบบนี้ให้มากๆ ทีข่าวงามหน้าประเภท “ประเทศไทยละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์เป็นอันดับที่ x ของเอเซียหรือที่ y ของโลก” หละชอบกันนัก